หนึ่งในประเทศที่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระลอก คงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น ที่ล่าสุดมีแผนจะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้ง ผ่านการใช้จ่ายสาธารณะ
สาเหตุที่ทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ต้องลงมือกระตุ้นการเติบโตครั้งใหญ่อีกวาระ สืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ประกอบกับญี่ปุ่นเองมีการขึ้นภาษีการขายไปเมื่อเดือนต.ค. และยังต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหลายครั้ง
จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์นิกเคอิ พบว่ากำไรสุทธิโดยรวมของบริษัทจดทะเบียน ลดลง 14% เมื่อเดือนเม.ย.-ก.ย.จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี ขณะที่บรรดาผู้ผลิตอุตสาหกรรมรายใหญ่ๆ มีกำไรลดลง 31%
การได้มาตรการด้านอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งเหลือเครื่องมือน้อยลงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
คาดว่ามาตรการครั้งนี้อาจสูงถึง 20 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเป็นจริงก็นับว่าเป็นมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่สุดของญี่ปุ่น แม้การใช้จ่ายก้อนใหม่จริงๆ อาจมีอยู่เพียงครึ่งเดียวก็ตาม
การทุ่มเทงบก้อนโต สะท้อนว่านายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ มุ่งมั่งที่จะพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกสู่ภาวะถดถอย หลังจากมีการขึ้นภาษีการขาย, ประเทศต้องเจอกับไต้ฝุ่นหลายลูก และเศรษฐกิจโลกซบเซา เพราะหากเศรษฐกิจถดถอยไปจริง ก็เท่ากับนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ที่นายกฯ จัดทำขึ้นตอนรับตำแหน่ง อันประกอบด้วยศร 3 ดอกเพื่อดึงประเทศขึ้นจากภาวะเงินฝืดที่รุมเร้ามาเป็นสิบปี จะเป็นการเสียของไปเปล่าๆ
สำหรับไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย. เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเพียง 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคก็ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีจาก 8% เป็น 10% เห็นได้จากยอดค้าปลีกที่ลดลงมากกว่าที่คาดไว้
ขณะที่ทางการดำเนินมาตรการอย่างลดภาษีและให้เงินอุดหนุนเพื่อพยุงการใช้จ่ายของผู้บริโภคสำหรับสินค้าราคาแพง อย่างที่อยู่อาศัยและรถยนต์ แต่ในที่สุดการขึ้นภาษีการขายจะมีผลกระทบแง่ลบต่อเศรษฐกิจ ผลจากสินค้าต่างๆ มีราคาสูงขึ้นหลังจากปรับขึ้นภาษี สวนทางกับค่าจ้างที่แท้จริงที่ลดลง โดยค่าจ้างที่แท้จริงนั้นนำเงินเฟ้อมาคำนวณด้วย
พูดง่ายๆ คือ อุปสงค์ที่ถูกกระตุ้นจากการใช้จ่ายเพิ่มเติม 6 ล้านล้านเยนที่ทางการออกมาในปีนี้ จะเหือดหายไปหากไม่มีการจัดทำมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม
คาดว่านายกฯอาเบะจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างละเอียด ว่าใช้งบเท่าไร และมีการกระตุ้นด้านไหนบ้าง ภายในกลางเดือนธ.ค.
นักวิเคราะห์แห่ง SMBC Nikko Securities ประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจพุ่งไปเกินกว่า 2% ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะถือเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดตั้งแต่ปี 2556 หากมีการใช้จ่ายเพิ่มเติม 10 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท
แหล่งข่าวเปิดเผยว่าส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ คือแผนการทุ่มเงินประมาณ 400,000 ล้านเยน หรือกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาคอมพิวเตอร์ให้แก่โรงเรียนรัฐบาลมากขึ้น ทั้งยังจะสนับสนุนความพยายามจัดตั้งเครือข่ายไร้สายในห้องเรียนและจัดทำซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา
สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น รัฐบาลจะให้เงินกู้ 400,000 ล้านเยนเพื่ออุดหนุนโครงการต่างๆ อย่างรันเวย์ที่ 3 ของสนามบินนาริตะ
รัฐบาลยังจะใช้เงินประมาณ 150,000 ล้านเยน หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนการซื้อยานพาหนะที่มีระบบเบรกอัตโนมัติและระบบความปลอดภัยล้ำสมัย รวมถึงใช้เงินเกือบ 100,000 ล้านเยน หรือกว่า 20,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายหลังยุค 5G
นอกจากนั้น น่าจะมีงบด้านการลงทุนรวมถึงเงินกู้เพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนา จำนวน 3 ล้านล้านเยน